วิกฤติน้ำ58! ดันบริหารน้ำวาระแห่งชาติ แก้ภัยแล้งยาวถึงปี69

  • 11 พ.ค. 2563
  • 731
หางาน,สมัครงาน,งาน,วิกฤติน้ำ58!  ดันบริหารน้ำวาระแห่งชาติ แก้ภัยแล้งยาวถึงปี69

นายกฯเผยแผนบริหารน้ำยาวถึงปี 69 เร่งช่วยผู้ประสบภัยแล้ง ย้ำไม่ต้องการให้ทุกคนเสียน้ำตา กรมชลฯไฟเขียวส่งน้ำเข้าแม่น้ำน้อย พร้อมช่วยนาข้าวตั้งท้องกว่า 1 ล้านไร่ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลแจงเจาะบ่อบาดาลแพงกว่าเอกชน เหตุเจาะลึกใช้งานได้มากกว่า 20 ปี กรมทางหลวงชนบททุ่มงบ 700 ล้านบาทซ่อมถนนทรุด สสนก.พัฒนาเว็บไซต์รายงานภัยแล้ง เตือน 20 จังหวัดเสี่ยงดินถล่ม ชาวนาอ่างทองโวยรัฐเจาะบ่อบาดาลแต่ไม่มีน้ำ ข้าวยืนต้นตาย ออกงมหอยหาปลาเลี้ยงชีพ สกลนครเหยื่อน้ำหลากสังเวยแล้ว 4 ศพ เขื่อนลำตะคองเตรียมรับน้ำป่าจากเขาใหญ่

วิกฤติภัยแล้งยังเป็นปัญหาสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลางอย่างต่อเนื่อง ขณะที่รัฐบาลสั่งห้ามสูบน้ำเพื่อการเกษตร เนื่องจากน้ำในเขื่อนหลักลดต่ำเป็นประวัติการณ์ เกรงจะไม่พอสำหรับการอุปโภคและบริโภค นอกจากนี้ ระดับน้ำในแม่น้ำลำคลองลดต่ำทำให้ถนนเสียหายหลายจุด ขณะเดียวกันเริ่มมีฝนตกลงมาในหลายพื้นที่ทำให้น้ำในเขื่อนมีปริมาณเพิ่มขึ้น

บริหารน้ำเป็นวาระแห่งชาติ

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 21 ก.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กล่าวภายหลังการประชุม ครม. ว่า รัฐบาลกำหนดให้การบริหารจัดการน้ำเป็นวาระแห่งชาติ วางแผนให้ประเทศไทยไม่ขาดน้ำถึงปี 2569 การดำเนินการต่างๆกำหนดไว้เป็นขั้นตอนตามช่วงระยะเวลา ช่วงแรกปี 57-59 ตั้งเป้าดำเนินการ 12 กิจกรรม อาทิ หาแหล่งน้ำเพิ่ม ทำระบบส่งน้ำ ขุดลอกคูคลอง ทำแก้มลิง ขยายอ่างเก็บน้ำให้เพิ่มความจุ ทั้งหมดอยู่ในแผนการบริหารจัดการน้ำจนถึงปี 69 ตามการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี อาจมีงบเงินกู้เล็กน้อยที่เตรียมไว้ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท จากนั้นจะส่งต่อหลังปี 2560 หากสามารถดำเนินการได้ครบ จะทำให้มีพื้นที่การเกษตรเพิ่มขึ้น ระบบชลประทานเพิ่มขึ้น วันนี้แม้จะมีปริมาณฝนตกลงมาแต่ไม่มาก เท่าที่ติดตามฝนไปตกลงที่เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ รวมทั้งเขื่อนแควน้อย เขื่อนขุนด่านปราการชล ทำให้มีกำลังใจดีขึ้น แต่การระบายน้ำช่วงไหนจำเป็นต้องลดก็ต้องลด

เร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า สำหรับความช่วยเหลือนั้น มาตรการระยะที่ 1 จะทำให้แล้วเสร็จโดยเร็ว สิ่งแรกคือการจ้างงานเร่งด่วน กระทรวงมหาดไทยจะรับไปดำเนินการในทุกจังหวัด ใช้งบประมาณของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จะอนุมัติให้จังหวัดละ 10 ล้านบาท เพื่อให้เกิดการจ้างงาน หากไม่พอรัฐบาลจะหาเงินอุดหนุนให้ ส่วนมาตรการที่ 2 มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีงบประมาณอยู่แล้วไปดูแลการปลูกพืชทางการเกษตร หรือพืชหมุนเวียน เพื่อทดแทนกรณีที่ปลูกข้าวไม่ได้ รวมกับงบจ้างงานของกรมชลประทาน ระยะต่อไปคือเตรียมดูแลความเสียหายที่เกิดขึ้น ขอร้องประชาชนอย่าตื่นตระหนก เพราะรัฐบาลจะดูแลทั้งในส่วนที่ปลูกไปแล้วและเกิดความเสียหาย หรือพื้นที่ที่ยังไม่ได้ปลูกว่าเสียโอกาสหรือไม่ ส่วนการบริจาคน้ำดื่มที่มีการรณรงค์กัน ถือเป็นการแสดงน้ำใจกันและกัน รัฐบาลจะเป็นคนกลางและจัดส่งไปยังศูนย์ของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์
“ผมเห็นมีคนมาร้องห่มร้องไห้ ผมเห็นแล้วรู้สึกบีบคั้นผมพอสมควร ขอให้รู้ไว้ว่ารัฐบาลไม่มีเจตนาที่จะทำให้ทุกคนต้องเสียน้ำตา เพราะน้ำมันน้อยอยู่แล้ว ขอให้เก็บน้ำตาไว้เพื่อแสดงความดีใจเมื่อฝนมา อย่าคิดว่าเราต้องช่วยทีเดียวทั้งหมดมันเป็นไปไม่ได้ ต้องจัดลำดับความเร่งด่วน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ไฟเขียวส่งน้ำเข้าแม่น้ำน้อย

นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดี กรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลฯได้พิจารณาการส่งน้ำให้แก่พื้นที่การเกษตรในลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัด ตามแผนที่กำหนดไว้ว่า นาข้าวที่กำลังตั้งท้อง ปลูกในช่วงต้นเดือน พ.ค.ตามคำแนะนำของกรมชลฯ จะได้รับน้ำก่อน โดยในช่วงเย็นวันที่ 21 ก.ค. เริ่มปล่อยน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่แม่น้ำน้อย ในอัตรา 5 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็นแห่งแรก เนื่องจากกรมชลฯ ได้รับหนังสือจากผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เข้ามาเป็นจังหวัดแรก ที่ยืนยันพื้นที่ปลูกของตัวเองชัดเจนว่ามีนาข้าวตั้งท้องรอความช่วยเหลือ หากจังหวัดใดยืนยันข้อมูลนาข้าวของตัวเองให้เร่งยืนยันขอรับน้ำเข้ามาทันที

ช่วยนาข้าวตั้งท้อง 1 ล้านไร่

นายสุเทพ กล่าวต่อว่า หลักการบริหารน้ำจืดและน้ำเขื่อนขณะนี้ยังเหมือนเดิม มุ่งเน้นให้ประชาชนมีน้ำกินน้ำใช้เป็นหลักก่อน ส่วนพื้นที่การเกษตรจะได้รับน้ำเมื่อมีปริมาณน้ำจากฝนเข้ามาเติมในระบบ จึงสามารถส่งให้แก่พื้นที่เกษตรได้ โดยเฉพาะอันดับแรก คือ นาข้าวที่กำลังตั้งท้องมีประมาณ 1.36 ล้านไร่ จากนาลุ่มเจ้าพระยาที่ลงมือปลูกแล้วทั้งหมดประมาณ 4.8 ล้านไร่ แต่ถ้าน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยาต่ำกว่าที่กำหนด จะหยุดส่งน้ำเพื่อการเกษตรอีกครั้ง สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนหลักของลุ่มเจ้าพระยา 4 แห่ง ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปริมาณน้ำไม่ขาดทุนมีน้ำไหลเข้ามาเติมเขื่อน และน้ำที่ระบายออกปริมาณใกล้เคียงกันประมาณ 20 ล้าน ลบ.ม. เนื่องจากฝนที่เริ่มตกลงมามากขึ้น

แจงเจาะบ่อน้ำบาดาลแพง

น.ส.สุทธิลักษณ์ ระวิวรรณ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล (ทบ.) กล่าวถึงกรณีสภาเกษตรกร จ.อ่างทอง ร่วมกับสภาเกษตรภาคกลางและภาคเหนือตอนล่างจะยื่นหนังสือถึงรัฐบาลเรื่องราคาขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลที่มีราคาแพงกว่าเอกชน ว่า ราคาการเจาะบ่อน้ำบาดาลของกรมฯ มีค่าใช้จ่าย 266,680 บาท ขณะที่ราคาของเอกชนอยู่ที่ 40,000-50,000 บาท การที่ราคาแพงเพราะเครื่องเจาะของกรมฯ เป็นเครื่องจักรขนาดใหญ่เจาะผ่านชั้นดิน ชั้นหินได้ทุกประเภทลึกโดยเฉลี่ย 100 เมตร มีอายุการใช้งานยาวมากกว่า 20 ปี ส่วนของเอกชนเจาะได้ลึกเฉลี่ย 20-30 เมตร มีอายุการใช้งานประมาณ 5-10 ปี บางแห่งใช้งานได้เพียง 1-3 เดือน

พัฒนาเว็บไซต์รายงานภัยแล้ง

นายรอยล จิตรดอน ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ขณะนี้ สสนก. พัฒนาเว็บไซต์www.thaiwater.net/hourlyreport.php  เพื่อรายงานสถานการณ์ภัยแล้ง รวมถึงสถานการณ์น้ำท่วม จะมีการรายงานข้อมูลสถานการณ์พายุในไทยแบบรายวัน มีการรายงานสถานการณ์ฝนตามพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ เพื่อให้ทราบปริมาณน้ำฝน รวมถึงระดับน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และในต่างจังหวัด นอกจากนี้ มีการรายงานสถานการณ์น้ำในแม่น้ำ และในเขื่อนต่างๆทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนในประเทศได้มีการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้งได้อย่างทันท่วงที

เตือน 20 จังหวัดเสี่ยงดินถล่ม

นายสุพจน์ เจิมสวัสดิพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ทธ.ได้วิเคราะห์ข้อมูลสถิติปริมาณน้ำฝนสะสม และเหตุการณ์ดินถล่มล่วงหน้า 3 วัน พบว่ามีพื้นที่กว่า 20 จังหวัด อาทิ เชียงใหม่ เชียงราย ตาก แม่ฮ่องสอน ลำปาง น่าน แพร่ พะเยา อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ชัยภูมิ เลย อุบลราชธานี นครนายก ระยอง จันทบุรี ตราด กาญจนบุรี และสุราษฎร์ธานี เสี่ยงต่อการเกิดเหตุดินถล่มมากสุด

ทุ่มงบ 700 ล้านซ่อมถนนทรุด

นายประศักดิ์ บัณฑุนาค รองอธิบดีกรมทาง หลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า จากกรณีการทรุดตัวของถนนเลียบคลองในเส้นทางที่รับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท จากการสำรวจสถานการณ์พบว่าการทรุดตัวของถนนเลียบคลองมี 36 สาย ระยะทางกว่า 16.258 กิโลเมตร และมีจุดเสียหาย 133 จุด ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ จ.ปทุมธานี ที่เหลือกระจายใน จ.สุพรรณบุรี สระบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี และลพบุรี นอกจากนี้ มีจุดเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังอีก 4 จุด อยู่ในเส้นทางคลอง 13 (เลียบคลองระพีพัฒน์) สาเหตุของการทรุดตัวของถนนเนื่องจากน้ำในคลองลดลง สำหรับการแก้ไขในเบื้องต้นมีการติดป้ายเตือน บางจุดมีการซ่อมแซมชั่วคราวแล้ว อย่างไรก็ตาม จะของบประมาณปี 2559 ในการซ่อมแซมถนนทรุดระยะแรก 31 สาย วงเงิน 700 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะต้องดำเนินการเจาะสำรวจดินในเส้นทางที่ชำรุดเสียหาย พร้อมออกแบบแก้ไขและก่อสร้างปรับปรุงระหว่างเดือน ต.ค.58-มี.ค.59

พระราชทานถุงยังชีพ จ.ตาก

ขณะเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มอบถุงยังชีพพระราชทาน 3,600 ถุง แก่ราษฎรที่ประสบภัยแล้งในพื้นที่ จ.ตาก 7 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมืองตาก อ.วังเจ้า อ.บ้านตาก อ.สามเงา อ.แม่สอด อ.พบพระ และ อ.แม่ระมาด โดยมี นายดิสธร วัชโรทัย รองเลขาธิการพระราชวัง ในฐานะประธานกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานมอบสิ่งของพระราชทาน ที่หอประชุมอำเภอวังเจ้า นายดิสธร เปิดเผยว่า พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นห่วงพสกนิกรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ทรงจัดตั้งศูนย์ฝนหลวงพิเศษเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อน และเพิ่มน้ำฝนในพื้นที่การเกษตร นอกจากนี้ จัดศูนย์บริการน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคพระราชทาน ณ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และสถานศึกษาในสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ จำนวน 122 แห่ง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน

เขื่อนภูมิพลน้ำเข้าต่อเนื่อง

นายณัฐวุฒิ แจ่มแจ้ง ผอ.เขื่อนภูมิพล อ.สามเงา จ.ตาก เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์เริ่มดีขึ้น มีน้ำไหลเข้าเขื่อนภูมิพลอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีน้ำกักเก็บทั้งสิ้น 3,919 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 29.12 เปอร์เซ็นต์ มีน้ำใช้การได้ 119 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 1.24 เปอร์เซ็นต์ ของความจุ วานนี้มีน้ำไหลเข้า 5.33 ล้าน ลบ.ม. ระบายเพื่อการอุปโภค บริโภค และรักษาระบบนิเวศ 5 ล้าน ลบ.ม. ขอความร่วมมือประชาชนผู้ใช้น้ำทุกคน ให้ใช้น้ำอย่างประหยัดและเอื้ออาทรต่อกัน แบ่งปันทรัพยากรน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด

เร่งฝนหลวงเพิ่มปริมาณน้ำ

นายรัฐกร วรุณสุขะศิริ นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ ศูนย์ฝนหลวงพิเศษนครสวรรค์ เปิดเผยว่า ผลการปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่วันที่ 1 - 19 ก.ค.ที่ผ่านมา ขึ้นทำฝนหลวง 268 เที่ยวบิน ใช้สารฝนหลวง 211 ตัน ในพื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ พื้นที่ลุ่มรับน้ำเจ้าพระยา พื้นที่ลุ่มรับน้ำป่าสักชลสิทธิ์ และพื้นที่ทางการเกษตร จ.นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี และเพชรบูรณ์ โดยฝนตกตามเป้าหมายทุกพื้นที่ จากการตรวจสอบสภาพอากาศช่วงนี้ พบว่ามีความเหมาะสมเป็นอย่างมาก ได้ขึ้นบินทำฝนหลวงโจมตีกลุ่มก้อนเมฆฝนในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อให้มีฝนตกมากขึ้นและยาวนานขึ้น ขณะเดียวกัน ชาวนา ต.ท่างิ้ว อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ ช่วยกันรื้อแนวกระสอบทรายที่กั้นแม่น้ำปิง หลังใช้สำหรับตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณปากคลองตั้วเกาเข้าพื้นที่การเกษตร เพื่อให้น้ำไหลลงพื้นที่ จังหวัดด้านล่างได้สะดวก

ทำหลุมขนมครกสู้ภัยแล้ง

จ.ลพบุรี นายวิวัฒน์ ศัลยกาธร ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียงและมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ นำขบวนกิจกรรมรณรงค์ตามรอยพ่อในโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลกรวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปี 3 โดยมี แพนเค้ก-เขมนิจ จามิกรณ์ ดาราสาวพร้อมอาสาสมัครภาคประชาชนและชาวบ้านในชุมชนบ้านเขาตีหิน อ.บ้านหมี่ ช่วยกันทำ “หลุมขนมครก” บนพื้นที่ทำกินขนาดเล็กเพื่อเป็นตัวอย่างในการกักเก็บน้ำ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืน โดยการสร้างหลุมขนมครกเป็นการบริหารจัดการพื้นที่ 1 ครัวเรือน ให้สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเปรียบลุ่มน้ำป่าสัก คือถาดขนมครก หากทุกครัวเรือนปรับพื้นที่ให้เก็บกักน้ำไว้ได้เปรียบเสมือนเป็นหนึ่ง “หลุมขนมครก” ในถาดใหญ่นั่นเอง

งมหอย–หาปลาเลี้ยงชีพ

จ.อ่างทอง สถานการณ์ภัยแล้งยังขยายวงกว้าง ระดับน้ำในแม่น้ำลำคลองลดลงอย่างต่อเนื่อง บางพื้นที่แห้งขอด ชาวนาในพื้นที่ อ.โพธิ์ทอง และ อ.แสวงหา ออกงมหอยและหาปลาในคลองรำมะสัก เพื่อหารายได้เสริม นายสมทบ แก้วจินดา อายุ 52 ปี ชาวนา ต.บ้านพราน อ.แสวงหา เปิดเผยว่า ภัยแล้งส่งผลให้ต้นข้าวอายุ 2 เดือน เหี่ยวเฉาและยืนต้นตายเพราะขาดน้ำ รัฐบาลส่งเจ้าหน้าที่มาขุดเจาะบ่อบาดาลให้เกษตรกรในพื้นที่ แต่บ่อบาดาลที่ขุดเจาะไม่สามารถสูบน้ำมาใช้ได้เนื่องจากไม่มีน้ำ ทำให้ชาวนาออกไปงมหอยกาบและหาปลาในลำคลองรำมะสัก ไปประกอบอาหาร ส่วนหนึ่งนำไปขาย เพื่อหารายได้มาใช้จ่ายในครอบครัวในช่วงหน้าแล้ง

จมน้ำสังเวยอีก 2

น.อ.ณัฐเกียรติ มนขุนทด ผบ.นรข.เขตนครพนม ระดมเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษจู่โจมใต้น้ำ ค้นหาร่างนายชูเกียรติ ราชบัญดิษฐ์ อายุ 41 ปี และนายนพศิลป์ เหลากุล อายุ 15 ปี ภายหลังออกไปหาปลาจนถูกกระแสน้ำพัดจมหายไปบริเวณประตูระบายน้ำบ้านตับเต่า ต.หนองเทาใหญ่ อ.ปลาปาก จ.นครพนม เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่พบศพนายชูเกียรติ แต่ไม่พบศพนายนพศิลป์ เนื่องจากกระแสน้ำรุนแรง นายอดิศักดิ์ เทพอาสน์ ผวจ.นครพนม ได้สั่งการให้หน่วยงานเกี่ยวข้อง ประกาศเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการออกไปหาปลาตามแหล่งน้ำ เนื่องฝนตกหนักทำให้กระแสน้ำไหลเชี่ยว ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 4 ราย ภายใน 1 สัปดาห์

น้ำชี–อ่างเก็บน้ำเริ่มขยับเพิ่ม

นายกิตติพงศ์ โรจน์วิรัตน์ หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการชลประทานมหาสารคาม เปิดเผยว่า ฝนที่ตกในพื้นที่ส่งผลดีต่อการเกษตร แหล่งน้ำตามธรรมชาติมีระดับน้ำเพิ่มขึ้น 10-15 เซนติเมตร ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 17 แห่ง เพิ่มขึ้น 5 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณน้ำกักเก็บ 26.85 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 32.98 จากความจุอ่าง 81.42 ล้าน ลบ.ม. ส่วนระดับน้ำในแม่น้ำชีมีปริมาณสูงขึ้นเป็น 1.50 เมตร จากเดิม 1.20 เมตร สำหรับสถานการณ์โดยรวมยังน่าเป็นห่วง เนื่องจากแหล่งต้นน้ำชีมีปริมาณน้ำเก็บกักน้อย ขอให้ประชาชนร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด

เขื่อนลำตะคองเล็งรับน้ำป่า

นายสุทธิโรจน์ กองแก้ว ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง เปิดเผยว่า เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนลำตะคองอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด มีปริมาณน้ำในเขื่อน 49 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 15 เปอร์เซ็นต์ของความจุ 314 ล้าน ลบ.ม. และต้องปล่อยน้ำออกจากเขื่อนวันละ 432,000 ลบ.ม. ขณะเดียวกัน มีรายงานว่าบนอุทยานเขาใหญ่เกิดฝนตกหนักติดต่อกัน 2-3 วัน ดินที่อิ่มน้ำกลายเป็นน้ำป่าไหลลงสู่ลำธารลำตะคอง และเริ่มไหลมายังพื้นที่ อ.ปากช่อง คาดว่าน้ำจะไหลลงอ่างเก็บน้ำลำตะคองในวันที่ 22 ก.ค.นี้

พระบรมฯพระราชทานน้ำดื่ม

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานน้ำดื่มแก่โครงการปันน้ำดื่มเพื่อพี่น้องไทยประสบภัยแล้ง “น้ำพระทัย Bike for Mom พระราชทานดับภัยแล้ง” เพื่อนำไปมอบให้แก่ราษฎรผู้ประสบภัยแล้งในพื้นที่ต่างๆ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณปกเกล้าปกกระหม่อมหาที่สุดมิได้ ในการนี้ยังมีหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานภาคเอกชนร่วมแสดงความห่วงใยต่อพี่น้องคนไทยด้วยกัน โดยใคร่ขอมีส่วนร่วมมอบน้ำดื่มให้กับโครงการปันน้ำดื่มเพื่อพี่น้องไทยประสบภัยแล้งเป็นจำนวนมาก รัฐบาลขอขอบพระคุณในไมตรีจิตของทุกท่านเป็นอย่างยิ่ง

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top